ภายใต้สถานการณ์ COVID-19 โรงเรียนควรจะปรับตัวอย่างไร
รองศาสตราจารย์ ดร.ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์
รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การปรับตัวของโรงเรียนภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ประเด็นที่สำคัญ คือ ความตระหนักของโรงเรียนถึงชั้นเรียนแบบเดิมกับชั้นเรียนภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ว่าแตกต่างกันอย่างไร และมีเรื่องใดที่เปลี่ยนไป การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เป็นหนึ่งในทางเลือกที่เป็นที่พูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ คือ ครูกับนักเรียนไม่ได้อยู่สถานที่เดียวกัน ในแง่ของการจัดการเรียนการสอน การอธิบายเนื้อหาให้กับนักเรียนยังสามารถทำได้ ถึงแม้จะมีประเด็นเรื่องระยะห่างระหว่างครูกับนักเรียน แต่ก็สามารถใช้โปรแกรมเข้าไปสนับสนุนเพื่อที่จะพูด หรือบรรยาย แต่สิ่งที่จะขาดหายไปเมื่อครูกับนักเรียนไม่ได้อยู่ที่เดียวกันในชั้นเรียน คือ ประเด็นการประเมินในชั้นเรียน เพื่อประเมินความสนใจของนักเรียนและการประเมินการก้าวหน้าในเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้ทันท่วงทีและครอบคลุม และประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นที่จะขาดหายไป คือ การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน เพราะในชั้นเรียนครูจะใช้สายตา ใช้ท่าทาง ที่จะสื่อสารกับผู้เรียน แต่ถ้าอยู่ห่างกันนักเรียนขาดความสนใจไปก็อาจจะเกิดความยุ่งยาก ในการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน
การปรับเปลี่ยนในระดับชั้นเรียนภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนี้ หลายประเทศได้มีความพยายามในการปรับตัวตามบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งการสอนในชั้นเรียนแบบเดิมแต่ปรับเปลี่ยนระยะห่างในชั้นเรียนดังเช่น ประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น หรือในโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนไม่มาก และการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ซึ่งสิ่งสำคัญในการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ คือ การตระหนักถึงสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในชั้นเรียนออนไลน์ เช่น การสอนแบบบรรยายตลอดเวลา โดยไม่คำนึงพัฒนาการทางสติปัญญา (Cognitive Development) ของผู้เรียนในระดับต่างๆ โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษาที่มีความแตกต่างจากมัธยมศึกษา ส่งผลให้ไม่สามารถที่จะสอนแบบบรรยายตลอดเวลาหรือรูปแบบเดียวได้ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญและจำเป็นที่ทุกคนทั้ง ผู้อำนวยการ ครู ผู้ปกครอง ชุมชน นักเรียน และบุคคลที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญ ทำความเข้าใจ และร่วมกันปรับตัว เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมมากที่สุด ของการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนของแต่ละพื้นที่ สำหรับบริบทของประเทศไทยนั้น หลายโรงเรียนยังไม่มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ด้วยหลายปัจจัย
สำหรับโรงเรียนในโครงการฯ ภายใต้การดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นโรงเรียนในชุมชนเมือง ไม่สามารถใช้การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ได้ 100% ด้วยเหตุผลทางด้านความพร้อมของแต่ละครอบครัว และทางด้านระบบสัญญาณเพื่อใช้ในการออนไลน์ที่ไม่มีความเสถียรเท่าเทียบกันในทุกภูมิภาค ดังนั้นบทบาทของครูในการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมควรเป็นลักษณะของ การปรับเปลี่ยนสภาพห้องเรียนในเชิงกายภาพ เพื่อจะอำนวยความสะดวก และความปลอดภัยให้กับนักเรียนในสถานการณ์ดังกล่าว
การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความสนใจและเกิดการเรียนรู้ ในกลุ่มคนทุกกลุ่มเป็นเรื่องยาก เนื่องจากอาศัยปัจจัยหลายด้านเข้าด้วยกัน ดังนั้นหากจะกล่าวว่าปัจจัยด้านความยากจน หรือการด้อยโอกาสจึงอาจจะไม่ใช่ปัญหาหลักในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ แต่ปัญหาที่สำคัญควรพุ่งตรงไปที่ลักษณะหรือรูปแบบที่ครูจัดการเรียนการสอน